วันที่ 18 มีนาคม 2567 นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย โดยนางสาวกรกัญญา อักษรเนียม นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และนางสาวจิตตะ นิยะมะ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ติดตามการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ในจังหวัดตรัง
📌เกษตรตรัง จับมือ ศดปช.ตำบลคลองลุ อำเภอกันตัง สร้างต้นแบบเพิ่มค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผลิตถ่านไบโอชาร์ลดปัญหา PM 2.5 และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน
🌿ศดปช.ตำบลคลองลุ ตั้งขึ้นในปี 2558 มีการเรียนรู้ การจัดการดินและปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง สมาชิกผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ทุก 2 ปีสมาชิกวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พบว่า ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดตรังที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์มีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2.8-2.9 ตันต่อไร่ เป็น 3.2 ตันต่อไร่
🌿ในปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง คัดเลือก ศดปช.ตำบลคลองลุ เข้าร่วมโครงการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จัดทำเวทีชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการ ร่วมกันวิเคราะห์ธุรกิจในชุมชนด้วย Business Model Canvas พบว่าตำบลคลองลุ มี “ทางจาก” เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จำนวนมากและย่อยสลายช้า เจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการผลิตถ่านไบโอชาร์ สมาชิกสนใจเรียนรู้ ดู และร่วมกันลงมือทำ จนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “เพิ่มคุณค่าทางจากสู่ 3 ผลิตภัณฑ์เด่นจากไบโอชาร์” ได้แก่ ถ่านไบโอชาร์ สบู่ไบโอชาร์ ดินปลูก ซึ่งนอกจากช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
📌 ศดปช.บ้านปากคลองกลาง ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว ต้นแบบขับเคลื่อนงาน “เกษตรกรเริ่มด้วยช่วยกันโดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน”
🌿ช่วงบ่ายนายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง นำทีมเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ลงพื้นที่ให้กำลังใจและชื่นชมการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านปากคลองกลาง ซึ่งเกิดจากสมาชิก 8-10 ราย ร่วมแรงร่วมใจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 52 ราย มีการระดมหุ้นๆ ละ 100 บาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการบริหารจัดการกลุ่ม มีการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จนสามารถผลิตปุ๋ยให้บริการสมาชิกได้กว่า 50 ตัน ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนกว่า 100,000 บาท
🌿ในการนี้เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่า “การทำงานในพื้นที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน มุ่งเป้าให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือเพื่อนคู่คิด หลายงานเกิดขึ้นจากความสมัครใจของเกษตรกร และความทุ่มเทของเกษตรตำบลโดยไม่ได้รองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว สำหรับสมาชิก ศดปช. แห่งนี้ไปศึกษาดูงาน ศดปช. อำเภอปะเหลียน กลับมาหารือร่วมกันคิด วางแผน ลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนงานที่น่าชื่นชม เจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อนคู่คิด เป็นพี่เลี้ยงพร้อมเติมเต็มสิ่งที่เกษตรกรขาด“